ที่มาของโครงการ
ระบบโทรมาตรขนาดเล็กสำหรับวัดระดับน้ำและน้ำฝนอัตโนมัติ
เพื่อติดตั้งในอ่างเก็บน้ำจำนวน 31 แห่ง 123 สถานี
1.ความเป็นมา 
            ปัจจุบัน สภาพภูมิอากาศ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก จำเป็นจะต้องมีเครื่องมือ-อุปกรณ์เทคโนโลยี อำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อช่วยในการพยากรณ์คาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และช่วยในการตัดสินใจ แนวทางบริหารจัดการน้ำ การดำเนินการด้านระบบโทรมาตรฯเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมชลประทาน ในการบริหารจัดการน้ำและการเตือนภัย เนื่องจากเป็นการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ และเป็นระบบที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการเตือนภัยล่วงหน้า สามารถบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร อันเนื่องมาจากอุทกภัย ซึ่งแต่เดิมการวัดระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเป็นการวัดโดยใช้เจ้าหน้าที่ อาจทำให้มีความคลาดเคลื่อนและล่าช้าในการบริหารจัดการน้ำ จึงจำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการวัดระดับน้ำและมีการทำงานเป็นระบบอัตโนมัติ ข้อมูลที่ได้มีความถูกต้อง แม่นยำมีความรวดเร็ว ทำให้การบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ             โดยส่วนบริหารจัดการน้ำจึงเห็นควรดำเนินการจ้างเหมาระบบโทรมาตรขนาดเล็กสำหรับวัดระดับน้ำและน้ำฝนอัตโนมัติเพื่อติดตั้งในอ่างเก็บน้ำจำนวน 31 แห่ง 123 สถานี ซึ่งมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการโดยเร่งด่วน เนื่องจากสถานที่ดำเนินการเป็นแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวมถึงลุ่มน้ำสายสำคัญ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือและแก้ไขปัญหาอุทกภัย

2.วัตถุประสงค์ของโครงการ
          กรมชลประทานมีความประสงค์ที่จะดำเนินการงานจ้างเหมาระบบโทรมาตรขนาดเล็กสำหรับวัดระดับน้ำและน้ำฝนอัตโนมัติเพื่อติดตั้งในอ่างเก็บน้ำจำนวน 31 แห่ง 123 สถานี เพื่อใช้ประกอบการวางแผนบรรเทาปัญหาอุทกภัย การแจ้งเตือนภัย และการเตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ ทั้งในฤดูฝนและในฤดูแล้งในบริเวณพื้นที่เป้าหมาย ทั้งยังสามารถประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือ (Tools) ช่วยประกอบการตัดสินใจเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้นและสามารถใช้สำหรับการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการประกอบด้วย            
           1.เพื่อนำระบบการสื่อสารทางไกล (Remote sensing) คือ ระบบโทรมาตรขนาดเล็ก มาใช้ในการอ่านระดับน้ำ ของระบบส่งน้ำของโครงการฯ โดยนำข้อมูลซึ่งเป็นแบบปัจจุบัน (Real time) มาบริหารจัดการน้ำให้ทันต่อสภาวการณ์ต่าง ๆ อย่างถูกต้องแม่นยำ             
           2.พัฒนาระบบฐานข้อมูล ที่ได้จากการตรวจวัดข้อมูล ด้านอุตุนิยมวิทยา ด้านอุทกวิทยา โดยการเชื่อมโยง ข้อมูลจากฐานข้อมูลของระบบโทรมาตรขนาดเล็กสำหรับวัดระดับน้ำและน้ำฝนอัตโนมัติที่ได้ติดตั้งในอ่างเก็บน้ำ ระบบการนำเสนอข้อมูลสามารถนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณชน (Public Information System) ในรูปแบบของการนำเสนอผ่านเครือข่าย Internet และช่องทางอื่นที่เหมาะสมสำหรับผู้เกี่ยวข้อง
         3.เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เช่น การใช้งานของระบบที่พัฒนาขึ้น และการดูแลบำรุงรักษาระบบโทรมาตรอุทกวิทยา ฯลฯ

3.ขอบเขตของการดำเนินงาน
           ขอบเขตของการดำเนินงาน ประกอบไปด้วยงานตามหัวข้อต่างๆ ดังนี้             
           3.1 ขอบเขตเชิงพื้นที่  ขอบเขตเชิงพื้นที่งานจ้างเหมาระบบโทรมาตรขนาดเล็กสำหรับวัดระดับน้ำและน้ำฝนอัตโนมัติเพื่อติดตั้งในอ่างเก็บน้ำจำนวน 31 แห่ง 123 สถานี (ดังแสดงไว้ในรูปที่1) โดยกรมชลประทานได้กำหนดจุดที่ตั้งที่ผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการจัดทำสถานีสนามเพื่อตรวจวัดทางอุทกวิทยาในเบื้องต้น ประกอบด้วย

        รูปที่ 1 แสดงขอบเขตพื้นที่การวางระบบโทรมาตรขนาดเล็กสำหรับวัดระดับน้ำและน้ำฝนอัตโนมัติ
เพื่อติดตั้งในอ่างเก็บน้ำ